บริการตรวจการได้ยิน
ศูนย์การได้ยินเดียร์ให้บริการตรวจการได้ยินอย่างแม่นยำ
- ห้องตรวจการได้ยิน
เนื่องจากการตรวจการได้ยินคือการตรวจหาระดับความดังของเสียงที่เบาที่สุดที่คนคนนั้นจะสามารถได้ยิน ( Hearing threshold ) การตรวจควรกระทำในห้องเงียบ สำหรับสถานที่ตั้งของห้องตรวจการได้ยิน ท่านควรให้ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียงรบกวนต่างๆ เช่น ท่อน้ำทิ้งของอาคาร ลิฟท์ ทางเดินร่วมของอาคาร
- เครื่องตรวจการได้ยิน
เครื่องตรวจการได้ยินต้องมีคุณภาพสูงได้มาตรฐานควรหลีกเลี่ยงเครื่องมือที่มีปุ่มหมุนหรือมีสวิทซ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังเวลาใช้งาน เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยเดาการตรวจจากเสียงรบกวนเหล่านี้ได้ ทำให้ผลการตรวจเชื่อถือไม่ได้
- ผู้ตรวจการได้ยิน
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ตรวจการได้ยิน 2 ระดับ คือ นักโสตสัมผัสวิทยา ( Audiologist ) และพนักงานวิทยาศาสตร์ตรวจการได้ยิน
การตรวจการได้ยินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียงและการตรวจการได้ยินด้วยเครื่องตรวจไฟฟ้า ( Audiometer )
การตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียง
จุดมุ่งหมายของการตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียง เพื่อแยกชนิดของความผิดปกติทางการได้ยินว่าเป็น Conductive hearing loss หรือ Sensorineural hearing loss ตามปกติการตรวจวิธีนี้แพทย์จะใช้ส้อมเสียงความถี่ 512 Hz แต่นักตรวจการได้ยินอาจทดสอบได้โดยใช้เครื่อง Audiometer โดยตั้งเครื่องมือให้เสียงออกทาง Bone vibrator ความถี่ 500 Hz และความดัง 35 dB ก็สามารถนำไปทดสอบแทนส้อมเสียงได้ สำหรับวิธีการตรวจที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะพูดถึงการตรวจที่นิยมใช้ 2 วิธี คือ Weber test และ Rinne test