โรคเบาหวาน หูอื้อ และเสียงดังในหู
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง
อาจมีผลต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาหูอื้อ เสียงดังในหู และ เวียนศีรษะบ้านหมุนได้ โดยจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหู และ อวัยวะทรงตัวได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน และการทรงตัวได้ ดังนั้นผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ และมีปัญหาหูอื้อ เสียงดังในหู และเวียนศีรษะบ้านหมุน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดย
1. การควบคุมอาหาร
ระวังอย่ารับประทานอาหารมากเกินไป ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และปรับลดส่วนให้เหมาะสมกับโรคเบาหวานคือ ลดอาหารจำพวกแป้ง หลีกเลี่ยง หรืองด ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ กะทิ น้ำมันปาล์ม อาหารที่มีน้ำตาลมาก บุหรี่ สุรา ( ผู้ที่ดื่มสุราจัดและดื่มเป็นประจำ ทำให้ตับอ่อนเสื่อมสมรรถภาพได้)
ควรรับประทานอาหารอย่างไรดี?
• รับประทานผักให้มากขึ้น
• รับประทานข้าวตามกำหนดแต่จำกัดจำนวน ถ้าไม่อิ่มให้เพิ่มผักได้ รับประทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย เช่น ส้มโอ ฝรั่ง มะละกอ พุทรา
• ใช้เต้าหู้ ถั่วต่างๆ ทำอาหารให้มากขึ้น
• ใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว ถั่วเหลือง แทนไขมันสัตว์
• รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
การควบคุมอาหารสำคัญอย่างไร
การรักษาโรคเบาหวานให้ได้ผลนั้นจำเป็นต้องควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอ แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยาหรือ ฉีดอินซูลินแล้วก็ตาม การควบคุมอาหารเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เนื่องจาก
1. ทำให้ผู้ป่วยสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติได้
2. ช่วยควบคุมน้ำหนักของผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควรเป็น
3. ป้องกันอาการหมดสติเนื่องจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
4. ลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดจากโรคเบาหวาน
5. ทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ตามที่ร่างกายต้องการ
6. ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง สามารถดำรงชีวิตและทำงานต่างๆ ได้อย่างคนปกติ
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
• อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และรับประทานได้โดยไม่จำกัด ได้แก่ ผักประเภทที่มีใยมาก เช่น ผักกาดขาว ผักบุ้งไทย ผักกวางตุ้ง ผักโขม แตงกวา บวบ ตำลึง สายบัว กะหล่ำปลี
• อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องจำกัด ได้แก่ อาหารประเภทข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เผือก มันเทศ ข้าวโพด แห้ว อาหารที่มีไขมันมากและเนื้อสัตว์ติดมัน
การแบ่งมื้ออาหาร
ควรกระจายออกเป็นมื้อย่อยๆ คือรับประทานทีละน้อย แต่รับประทานทุกมื้อ ดังตัวอย่างรายการอาหารต่อ 1 วัน ดังนี้
อาหารเช้า ข้าวต้มปลา ไก่ น้ำส้มคั้น
อาหารกลางวัน ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผลไม้
อาหารว่าง นมจืด 1 แก้ว
อาหารเย็น ข้าว น้ำพริก ปลาย่าง ผักต่างๆ ผลไม้
2. การออกกำลังกาย
ควรทำสม่ำเสมอและพอเหมาะกับสภาพร่างกาย นอกจากจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงแล้ว การบริหารขาและเท้า จะช่วยให้กระแสเลือดไหลเวียนดีขึ้น ในรายที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากนัก อาจรักษาด้วยการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง และเหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาช่วย
3. การใช้ยา
ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีทั้งชนิดกินและฉีด ผู้ป่วยควรใช้ยาร่วมด้วยเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก หรือ การควบคุมอาหาร และ การออกกำลังกายไม่ได้ผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
4. การหมั่นตรวจสุขภาพและตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะตา เพราะผู้ป่วยเบาหวานมักมีสุขภาพตาเสื่อมลงเร็วกว่าคนปกติ อาจตาบอดได้ถ้าไม่ระวังรักษาและเป็นต้อกระจกง่าย ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีระดับน้ำตาลขึ้นลงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง คือ อาหาร ยา การออกกำลังกาย การตรวจหาน้ำตาลในเลือดจึงมีความสำคัญในการควบคุมโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีโรคบางชนิดมักเกิดร่วมกับเบาหวาน เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง
5. การระวังภาวะแทรกซ้อนจากน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ รู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น อ่อนเพลีย รู้สึกจะเป็นลม ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก รู้สึกยิบๆ ที่ลิ้นและริมฝีปาก ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบดื่มน้ำหวาน รับประทานน้ำตาล หรืออมท๊อฟฟี่ แล้วรีบพบแพทย์
6. การรักษาความสะอาดของร่างกาย
เช่น ผิวหนัง สุขภาพฟัน เท้า และบริเวณที่อับชื้นอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีแผลต้องรีบรักษา
7. การมีบัตรหรือสัญลักษณ์
ผู้ป่วยควรมีบัตรเพื่อแสดงว่าเป็นโรคเบาหวานติดตัวประจำ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจนหมดสติไป ผู้ที่พบเห็นจะได้ทำการช่วยเหลือหรือนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล