โรคหินปูนเกาะกระดูกหู คืออะไร? และเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (otosclerosis)

        เกิดขึ้นเนื่องจากมีกระดูกงอกขนาดเล็กยึดฐานของกระดูกโกลน (stapes) กับ ช่องรูปไข่ (oval window) ในหูชั้นกลาง ทำให้เสียงที่ผ่านมาทางช่องหู แก้วหู กระดูกฆ้อน กระดูกทั่ง ผ่านกระดูกโกลนยาก หรือผ่านไม่ได้ เพราะฐานกระดูกโกลนถูกยึดแน่นจากกระดูกงอกบริเวณช่องรูปไข่ ทำให้เกิดอาการหูตึง หรือหูอื้อแบบการนำเสียงเสีย บางครั้งโรคอาจลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้เกิดหูอื้อ หรือหูตึงแบบประสาทรับเสียงเสีย, เสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้

โรค หินปูนเกาะกระดูกหู (otosclerosis)

โรค หินปูนเกาะกระดูกหู (otosclerosis)

        โรคนี้มักจะเป็นทั้งสองข้าง พบได้ในวัยตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไป มักพบบ่อยในเพศหญิง และในช่วงอายุ 20 – 40 ปี อาการหูอื้อ หรือหูตึงนี้มักจะค่อยเป็นค่อยไป การรักษาอาจใช้เครื่องช่วยฟัง (hearing aid) หรือผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลนเพื่อให้การได้ยินดีขึ้น

ในกรณีผ่าตัด แพทย์จะแก้ไขอาการหูตึงโดยการผ่าตัดผ่านช่องหูชั้นนอก โดยจะมีแผลเล็กๆ อยู่ในช่องหู จึงไม่มีแผลบริเวณหู ที่มองเห็นจากภายนอก กรณีที่ต้องใช้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่แขนมาเสริม จะมีแผลที่ปลายแขนขนาด 1 – 2 ซ. ม. แพทย์จะตัดกระดูกโกลนทิ้งไป ใส่เนื้อเยื่อคลุมช่องรูปไข่ และใส่กระดูกโกลนเทียม (stapes prosthesis) ยึดจากกระดูกทั่ง แล้ววางบนช่องรูปไข่ ซึ่งมีเนื้อเยื่อวางคลุมไว้แล้ว

การผ่าตัดดังกล่าว อาจใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือ วิธีดมยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด
ในกรณีที่ผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อวิสัญญีแพทย์จะได้เตรียมความพร้อม สำหรับดมยาสลบในวันรุ่งขึ้นที่จะผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำ และอาหารหลังเที่ยงคืน วันก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักอาหารลงปอด เวลาดมยาสลบ
ในกรณีที่แพทย์ต้องใช้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่แขนมาเสริมในการผ่าตัด คืนวันก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการโกนขนที่บริเวณแขน เพื่อเตรียมบริเวณที่จะทำการผ่าตัด

การดมยาสลบ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บคอ เสียงแหบจากสายเสียงบวม หายใจลำบาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจไว้ระยะหนึ่งหลังผ่าตัดเสร็จ อาจเกิดปอดอักเสบจากการสูดสำลัก แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก

โรค หินปูนเกาะกระดูกหู (otosclerosis)

โรค หินปูนเกาะกระดูกหู (otosclerosis)

หลังผ่าตัด จะมีวัสดุที่ใช้ในการจัดแผลผ่าตัดในหูและแก้วหูให้เข้าที่ และสำลีอยู่ในรูหู และจะมีแผลที่แขน ในกรณีที่แพทย์ใช้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่แขนมาเสริมในการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด และจะมีสายให้น้ำเกลืออยู่ที่แขน เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดีพอควร แพทย์จะเอาสายให้น้ำเกลือออก วันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด แพทย์จะเปลี่ยนสำลีที่อุดอยู่ภายนอกช่องหูให้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการหูอื้อ ได้ยินไม่ชัด และอาจจะมีเสียงดังในหู เนื่องจากมีวัสดุที่ใช้ในการจัดแผลผ่าตัดในหูให้เข้าที่ อุดอยู่เต็มรูหู

ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดจากการผ่าตัด ได้แก่ เวียนศีรษะ ซึ่งจะเวียนน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เสียงดังในหู การได้ยินเสื่อมลงมากกว่าเดิม ปากเบี้ยวจากการกระทบกระเทือนเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 การรับรสของลิ้นน้อยลง แผลผ่าตัดติดเชื้อ การติดเชื้อของหูชั้นใน แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะกลับบ้านได้หลังผ่าตัดประมาณ 1 – 2 วัน

การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล แพทย์จะนัดมาดูแผลผ่าตัดภายในช่องหู 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด โดยดึงวัสดุที่อยู่ในช่องหูชั้นนอกออก ตัดไหมที่แขน แพทย์จะนัดมาตรวจหลังผ่าตัดเป็นครั้งคราว เช่น นัดมาตรวจ 1 เดือน , 2 เดือน , ทุกๆ 3 เดือนจนครบ 1 ปี ต่อไปนัดมาตรวจปีละครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก : ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
http://www.rcot.org/2016/People/Detail/34

 

เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้านการแก้ไขปัญหาการได้ยินแบบครบวงจร