ห๊ะ…เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ?

ห๊ะ...เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ?

ห๊ะ…เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ?

ปัญหาหนึ่งของผู้สูงวัย  และอาจถือเป็นปัญหาของคนรอบข้างด้วยเหมือนกัน คือการที่ผู้สูงวัยมีความสามารถในการรับเสียงแย่ลงหรือพูดง่ายๆก็คือ หูตึงนั่นเอง และเนื่องจากเป็นภาวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ในบางครั้ง ผู้สูงวัยหรือคนรอบข้างอาจมีปัญหาอื่นแทรกซ้อนได้ จากการที่ต้องตะโกนสื่อสารกันเป็นเวลานาน เช่น เสียงแหบ ไอเรื้อรัง เป็นต้น

ภาวะหูตึง หมายความถึง ภาวะที่ความสามารถในการรับเสียงแย่ลง มีการให้ระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน ดังตารางดังต่อไปนี้

ระดับการได้ยิน ระดับความพิการ ความสามารถในการเข้าใจคำพูด
0-25 dB ปกติ ไม่ลำบากในการรับฟังคำพูด
26-40 dB หูตึงน้อย ไม่ได้ยินเสียงกระซิบ
41-55 dB หูตึงปานกลาง ไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ
56-70 dB หูตึงมาก ไม่ได้ยินเสียงพูดที่ดังมาก
71-90 dB หูตึงรุนแรง ได้ยินไม่ชัดแม้ต้องตะโกน
>90 dB หูหนวก ตะโกน หรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยิน

 

การที่คนเราสามารถรับเสียง อาศัยกลไก 2 ส่วน คือ 

  1. ส่วนนำเสียงและขยายเสียง ได้แก่ หูชั้นนอกและหูชั้นกลาง คลื่นเสียงจากภายนอกผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปกระทบแก้วหู และมีการส่งต่อและขยายเสียงไปยังส่วนของหูชั้นในต่อไป ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้เกิดภาวะหูตึงได้
  2. ส่วนประสาทรับเสียง ได้แก่ส่วนของหูชั้นในไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่างๆ ความผิดปกติบริเวณนี้ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะหูตึง หูหนวกถาวร และบางโรคทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

โรคที่ทำให้เกิดภาวะเสียการได้ยินจึงมีสาเหตุได้ทั้งจากส่วนนำเสียง ขยายเสียง และส่วนประสาทรับเสียงด้วย แต่กล่าวโดยทั่วไป หากพูดถึงภาวะหูตึง ก็จะหมายความถึงการเสียการได้ยินจากประสาทรับเสียง ซึ่งสาเหตุของภาวะหูตึงนี้อาจจะมีได้จากหลายสาเหตุ

  1. จากการเสื่อมตามวัย ตามเงื่อนไขพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ดังนั้นแต่ละคนอาจจะหูตึงเร็วช้าต่างกันได้
  2. หูพิการแต่กำเนิด เกิดจากพันธุกรรม พัฒนาการผิดปกติ หรือการเป็นโรคระหว่างตั้งครรภ์ของมารดาเอง เช่น โรคหัดเยอรมัน
  3. จากโรคประจำตัวที่มีอยู่ เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการเสื่อมของหูชั้นในเร็วมากขึ้น
  4. จากการใช้ยา เนื่องจากมียาบางกลุ่มที่อาจมีผลเสียต่อหูชั้นในของผู้ป่วยบางรายได้ เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์ ยาขับปัสสาวะ ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ยาแอสไพริน เป็นต้น
  5. หูตึงจากภาวะเสียงดัง เกิดจากการสัมผัสเสียงที่ดังเกินไปเป็นเวลานานเกินไป

ขั้นตอนในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีปัญหาด้านการได้ยินนั้นไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นแพทย์จะตรวจร่างกายดูสภาพของหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู หูชั้นกลางว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ หากตรวจพบก็จะดูแลรักษาไปตามแต่ละภาวะ จากนั้นจึงเป็นการตรวจการได้ยินและหากสงสัยว่ามีภาวะหูตึง จึงจะส่งตรวจการได้ยินเพื่อยืนยัน และดูระดับความรุนแรง จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการรักษาซึ่งขึ้นกับว่าลักษณะของผู้ป่วยเข้ากับโรคใด หากเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในภาวะที่แก้ไขได้แล้วก็จะเป็นการฟื้นฟูด้วยการใช้ เครื่องช่วยฟังต่อไป

แหล่งที่มาข้อมูล : ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

http://www.rcot.org/2016/People/Detail/77

เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้านการแก้ไขปัญหาการได้ยินแบบครบวงจร